การท่องเที่ยวชายแดนไทย –ลาว

จุดผ่านแดน ด่านอำเภอเชียงของ ฝั่งตรงข้ามคือด่านเมืองห้วยทราย แขวงบ่อแก้ว สปป.ลาว ห่างจากอำเภอเมืองเชียงราย 114 กิโลเมตร ตั้งอยู่บริเวณท่าเรือบั๊ก เป็นจุดข้ามไปท่องเที่ยวเมืองห้วยทราย และเดินทางตามลำน้ำโขงโดยทางเรือไปถึงหลวงพระบางและเวียงจันทร์ สปป.ลาว แล้วกลับเข้าประเทศไทยที่จังหวัดหนองคาย (เรือเร็วออกเดินทางช่วงเช้า นั่งได้ 5 คนๆ ละ 800 บาท ใช้เวลา 5 ชั่วโมง เรือสินค้าออกเดินทางช่วงบ่ายคนละ 300 บาท ใช้เวลา 2 วัน 1คืน



ท่าเรือบั๊ก จุดผ่านแดนถาวรระหว่างไทย - ลาว ริมฝั่งแม่น้ำโขง มองเห็นทิวทัศน์ของเมืองห้วยทราย แขวงบ่อแก้ว สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวได้ นักท่องเที่ยวชาวไทยสามารถข้ามไปฝั่งลาวได้โดยติดต่อที่ว่าการอำเภอ เชียงของ โดยเตรียมรูปถ่าย 1 นิ้ว 2 รูป และสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน 1 ชุด พร้อมเงินค่าธรรมเนียม 30 บาท สำหรับนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศต้องขอวีซ่าจากสถานทูต (ด่านเปิดทุกวัน เวลา 06.30 - 18.30 น.) จากจุดนี้สามารถเดินทางท่องเที่ยวโดยทางเรือไปถึงหลวงพระบาง - เวียงจันทน์ สปป.ลาว และกลับเข้าประเทศไทยที่จังหวัดหนองคายได้ ติดต่อชมรมท่องเที่ยวเชียงของ โทร. 0 5379 1993


สวนสาธารณะปลาบึกเจ็ดสี บ้านหัวเวียง หมู่ที่ 1 อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย



กิจกรรม ณ ลานสวนสาธารณะปลาบึก 7 สี บ้านหัวเวียง หมู่ที่ 1 ตำบลเวียง อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย




ท่าเรือน้ำลึก ตั้งอยู่บ้านหัวเวียง หมู่ที่ 1 ตำบลเวียง อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย

แหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ

หาดหินทรายแม่น้ำโขง บ้านดอนมหาวัน ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ถึงเดือนพฤษภาคม ของทุกปีมีหาดหินทราย ที่ขึ้นชื่อของอำเภอเชียงของ เป็นแหล่งท่องเที่ยว พักผ่อนริมแม่น้ำโขง และสถานที่ชมวิวฝั่งลาว


หนองบัวหลวง ช่วงเดือนตุลาคม ถึงเดือนเมษายน ของทุกปี หนองบัวหลวง ตั้งอยู่บ้านโจ้โก้ หมู่ที่ 10 ตำบลเวียง อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย มีลักษณะเป็นแหล่งน้ำธรรมชาติที่มีขนาดกว้างมาก มีทิวทัศน์ที่สวยงาม จะมีนักท่องเที่ยวและประชาชนเข้ามาท่องเที่ยวชมธรรมชาติของหนองน้ำแห่งนี้ ประกอบกับช่วงออกพรรษา เทศบาลตำบลเวียงจะมีการจัดงานแข่งเรือ ณ บริเวณนี้เป็นประจำทุกปี


อ่างเก็บน้ำทุ่งดุก บ้านทุ่งดุก หมู่ที่ 4 ตำบลเวียง อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย เป็นอ่างเก็บน้ำตามแนวพระราชดำริขนาดใหญ่ ที่กักเก็บน้ำเพื่อการเกษตร และเป็นแหล่งท่องเที่ยวแบบธรรมชาติอีกหนึ่งแห่งในพื้นที่ตำบลเวียง อำเภอเชียงของ


น้ำตกห้วยเม็ง บ้านห้วยเม็ง หมู่ที่ 6 ตำบลเวียง อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย น้ำตกห้วยเม็ง ตั้งอยู่ในภูเขาดอยหลวง ที่อยู่ทางทิศตะวันตกของหมู่บ้าน เมื่อเข้ามาในหมู่บ้านจะมองเห็นเขาสูงใหญ่โดดเด่นมีป่าไม้ร่มเย็น ภูเขาลูกนี้เป็นที่ทำไร่ทำสวนของชานบ้านห้วยเม็งมาตั้งแต่สมัยอดีต น้ำตกห้วยเม็งมี 2 ฝั่ง คือฝั่งซ้ายและขวา เมื่อไปถึงจุดจอดรถจะมีป้ายบอกทาง ท่านสามารถเลือกเที่ยวไปทั้ง 2 ฝั่ง ระยะทางไม่ห่างกันมากนัก เส้นทางไปน้ำตกห้วยเม็ง ระยะทางจากถนนเส้น อ.เชียงของ- อ.เชียงแสน เลี้ยวเข้าในหมู่บ้านห้วยเม็ง จากปากทางถึงน้ำตกห้วยเม็ง ระยะทางราวๆ 6.5 กม. เส้นทางในหมู่บ้านเป็นถนนลาดซีเมนต์ แต่เลยหมู่บ้านไปซักหน่อยจะเป็นถนนลูกรัง ช่วงหน้าฝนมีเป็นหลุมเป็นบ่อบ้าง แต่เส้นทางนี้ชาวบ้านก็ปรับปรุงตลอดเพราะเป็นเส้นทางหลักในการไปสวนของชาวบ้านห้วยเม็งเช่นกัน


แหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ

แหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม มีหลากหลายทางเชื้อชาติ ศาสนา วัฒนธรรม ของชนเผ่าต่างๆ ที่มีเอกลักษณ์ของกลุ่มชนเผ่าของตนเอง ชนเผ่าต่างๆ ในเขตตำบลเวียงมีหมู่บ้านจำนวน 4 หมู่บ้าน แยกเป็น

ม้ง ชาวเขาเผ่าม้ง…บ้านทุ่งนาน้อย…บ้านทุ่งพัฒนา
   บ้านทุ่งนาน้อย อยู่ห่างจากตัวอำเภอเชียงของเพียง 9.5 กิโลเมตร ไปทางทิศตะวันตก โดยเป็นหมู่บ้านที่ชาวม้งอาศัยอยู่ ซึ่ง "ม้ง" เป็นหนึ่งในหลายชนเผ่าที่กระจัดกระจายอาศัยอยู่ทั่วภาคเหนือตอนบน มีวิถีชีวิตดั้งเดิมที่น่าสนใจ และยังคงรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีของตนไว้ มีการประกอบอาชีพและพิธีกรรมต่างๆ ที่ผสมกลมกลืนกับธรรมชาติ ห่างจากหมู่บ้านไปอีกประมาณ 3 กิโลเมตร ยังมีน้ำตกห้วยตอง อีกหนึ่งน้ำตกที่สวยงามของอำเภอเชียงของ
   ซึ่งนักท่องเที่ยวที่ชอบการเดินป่าหรือการปั่นจักรยานเสือภูเขา สามารถท่องเที่ยวได้ 2 วัน 1 คืน วันแรกเดินทางเข้าไปหมู่บ้านม้ง เดินเที่ยวชมหมู่บ้านม้ง บ่ายๆ เดินทางสู่น้ำตกห้วยตองและค้างแรมที่นั่น เช้าวันที่สองเดินทางออกจากน้ำตกห้วยตองมาหมู่บ้านม้งและเส้นทางการเดินทางไปหมู่บ้านทุ่งนาน้อย เหมาะสำหรับรถทุกชนิด ช่วงเวลาที่เหมาะสำหรับการเที่ยว ประมาณเดือนตุลาคม – มีนาคม



ขมุ บ้านห้วยกอก
   บ้านห้วยกอก อยู่ห่างจากตัวอำเภอเชียงของเพียง 3.5 กิโลเมตรไปทางทิศใต้ โดยเป็นหมู่บ้านที่ชาวขมุอาศัยอยู่
   การแต่งกาย ชาวขมุจะนิยมเสื้อผ้าสีดำ หรือสีคล้ำเข้ม ผู้หญิงจะใช้ซิ่นลายขวางแบบไทลื้อ สวมเสื้อผ้าหนาสีน้ำเงินเข้มตัวสั้น ตกแต่งด้วยผ้าด้ายสีและเหรียญเงิน โพกผ้าสีขาว หรือสีแดง สำหรับผู้ชายปัจจุบันมีการแต่งกายที่ไม่ต่างจากคนเมือง อาชีพ ทำการเกษตรเป็นหลักแบบยังชีพ ปลูกข้าว เผือกมัน และพืชไร่และไม้ยืนต้นมีเล็กน้อย ส่วนใหญ่ปลูกไว้กิน หากมีเหลือก็จะแบ่งปันให้ญาติพี่น้อง นอกจากนี้ยังมีการเลี้ยงสัตว์ เช่น หมู ไก่
   ความเชื่อและพิธีกรรม ชาวขมุนับถือผี (โร้ย) มีพิธีเซ่นไหว้ด้วย หมู ไก่ ข้าว เหล้า จะเลี้ยงผีในพิธีสำคัญๆต่างๆ มีทั้งผีป่า ผีบ้าน ผีน้ำ ผีหมู่บ้าน ทุกบ้านจะมีผีเรือน (โร้ยกาง) ซึ่งเชื่อว่าประดิษฐานในบริเวณเตาหุงข้าว พิธีกรรมที่สำคัญของชาวขมุจะใช้ในการรักษาความเจ็บป่วย โดยจัดพิธีเลี้ยงผีด้วยไก่และหมู
   ลักษณะนิสัย และค่านิยม ชาวขมุเป็นผู้ที่รักความสงบ ไม่ชอบทะเลาะวิวาทหรือตีรันฟันแทงหรือกลั่นแกล้งใคร มีนิสัยขยัน อดทน ซื่อสัตย์ และรับคำสั่ง ชอบมีเพื่อนฝูง มีการกินข้าวกินเหล้าร่วมกัน ชาวขมุ จะให้ความเคารพผู้เฒ่าผู้แก่และญาติผู้ใหญ่ของตนอย่างเคร่งครัด

ไทลื้อ บ้านห้วยเม็ง
   เดิมชาวไทลื้อมีถิ่นที่อยู่บริเวณหัวน้ำของ (น้ำโขง) เมืองลื้อหลวง จีนเรียกว่า "ลือแจง" ต่อมาได้เคลื่อนย้ายลงมาอยู่บริเวณเมืองหนองแส หรือที่เรียกว่าคุนหมิงในปัจจุบัน แล้วย้ายลงมาสู่ลุ่มน้ำของ (น้ำโขง) สิบสองปันนาปัจจุบัน
   วิถีชีวิตความเป็นอยู่ ที่ตั้งบ้านเรือน หรือหมู่บ้าน จะหาทำเลที่มีแม่น้ำลำคลองอยู่ใกล้หมู่บ้านและสะดวกในการเพาะปลูก ดำเนินชีวิตแบบเรียบง่าย พอเพียง พึ่งพาตนเอง ชาวไทลื้อมักจะอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม มีความเอื้ออาทรซึ่งกันและกัน การสร้างบ้านเรือนแต่ละหลังในหมู่บ้าน คนทั้งหมู่บ้านจะมาช่วยกัน เวลาเก็บเกี่ยวข้าวก็จะช่วยกันให้เสร็จไปทีละเจ้า แต่เจ้าของนานั้นต้องได้ไปช่วยเขามาก่อนแล้ว ถ้าหนุ่มสาวคนใดเกียจคร้าน พ่อแม่บ่าวสาวจะตั้งข้อรังเกียจ ไม่ยอมให้แต่งงานด้วย
   วัฒนธรรมประเพณี ตานก๋วยสลาก ประเพณีสงกรานต์ สูมาดำหัวผู้เฒ่าผู้แก่
   ผลิตภัณฑ์พื้นบ้าน ผ้าทอ เครื่องจักสาน ปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ ปลูกผลไม้


บ้านยองหิน
   บ้านห้วยเม็ง อ.เชียงของ ซึ่งห่างจากตัวเชียงของ ระยะทางประมาณ 5 กิโลเมตรเป็น บ้านที่สร้างด้วยการตั้งเสาบ้านบนก้อนหิน เสาแต่ละต้นของบ้านจะตั้งอยู่บนก้อนหิน เป็นหมู่บ้านไทลื้อ การสร้างบ้านในลักษณะนี้เป็นวัฒนธรรมที่สืบทอดกันมายาวนาน หาชมได้ยากแล้วในปัจจุบันบ้านยองหินนั้นจะไม่ ฝังเสาลงดิน แต่จะตั้งเสาบนหิน เมื่อเกิดลมแรงหรือแผ่นดินไหวจะ ทนทานได้เพราะมีความยืดหยุ่นกว่า ส่วนบ้านที่ฝังเสาลงดินจะล้มก่อน ส่วนบ้านที่ตั้งบนหินจะไม่สะเทือนถึงบนบ้าน ชาวไทลื้อสร้างบ้านลักษณะนี้กันมานานจนถึงปัจจุบันยังมีให้ชมกัน ในบ้านห้วยเม็ง หมู่ที่ 6 ตำบลเวียง อำเภอเชียงของ ลักษณะบ้านยองหินนอกจากจะตั้งบนก้อนหินแล้วลักษณะพิเศษอีกอย่างคือการไม่ใช้ตะปูแต่จะเป็นการเข้าไม้แบบตอกเข้าลิ่ม สลักไม้สอดเข้าลิ่ม