กฎหมายและมาตรการของ ป.ป.ช ในการต่อต้านการให้สินบนเจ้าพนักงานของรัฐ

09/12/2020

คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้พัฒนากฎหมายและมาตรการที่จะทำให้สามารถแก้ไขปัญหาสินบนอย่างมีประสิทธิภาพ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 176 เป็นการกำหนดความผิดฐานให้สินบนเจ้าพนักงานของรัฐ เจ้าหน้าที่ของรัฐต่างประเทศ หรือเจ้าหน้าที่ขององค์การระหว่างประเทศ โดยสินบนที่ว่านี้หมายถึงทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นๆ ที่ให้แก่เจ้าพนักงานของรัฐ ไม่ว่าจะเป็น เงิน บ้าน รถ หรือแม้แต่การพาไปท่องเที่ยว ซึ่งเป็นการให้เพื่อจูงใจให้เกิดการกระทำที่ไม่ชอบด้วยหน้าที่ และแม้ผู้ให้สินบนจะไม่ได้ให้แก่เจ้าพนักงานของรัฐโดยตรง เช่น การให้สินบนผ่านตัวกลาง อย่างคู่สมรส ญาติ หรือเพื่อน ก็เป็นความผิดตามมาตรานี้เช่นกัน โดยจะได้รับโทษ จำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

     นอกจากนั้น กฎหมายยังกำหนดความรับผิดสำหรับองค์กรที่มีสถานะเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย ในกรณีที่พนักงาน ลูกจ้าง ตัวแทน บุคลากรขององค์กรหรือบริษัทในเครือ ให้สินบนแก่เจ้าพนักงานของรัฐเพื่อประโยชน์ของนิติบุคคล หากเกิดการติดสินบนและนิติบุคคลไม่มีมาตรการควบคุมภายในที่เหมาะสมเพื่อป้องกันการกระทำความผิด นิติบุคคลอาจต้องโทษปรับ ตั้งแต่หนึ่งเท่าแต่ไม่เกินสองเท่าของค่าเสียหายที่เกิดขึ้น หรือประโยชน์ที่ได้รับ

 

8 หลักการป้องกันการให้สินบนเจ้าพนักงานของรัฐ ตัวช่วยสำคัญสำหรับองค์กรเพื่อการควบคุมความเสี่ยง

     นอกจากกฎหมายจะเข้ามาช่วยปราบปรามผู้ที่ให้สินบนแล้ว กลไกที่สำคัญของกฎหมายอีกอย่างหนึ่งคือการสนับสนุนให้องค์กรมีมาตรการกำกับดูแลภายใน เพื่อการประกอบกิจการอย่างโปร่งใส และมีวัฒนธรรมองค์กรในการต่อต้านสินบนและการทุจริตอย่างแท้จริง

     คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้กำหนดหลักการป้องกันการให้สินบนขึ้นมาด้วยกันทั้งหมด 8 ข้อ เพื่อให้นิติบุคคลนำไปปรับใช้ ได้แก่

     การป้องกันการให้สินบนต้องเป็นนโยบายสำคัญจากระดับบริหารสูงสุด
     ผู้ที่อยู่ในระดับบริหารสูงสุดขององค์กรมีบทบาทสำคัญที่ในการริเริ่มมาตรการควบคุมภายในองค์กร สามารถสร้างวัฒนธรรมภายในองค์กรให้ต่อต้านการให้สินบนเจ้าพนักงานของรัฐได้ โดยอาจเป็นการปฏิบัติตัวให้เป็นตัวอย่างที่ดี หรือสร้างนโยบายในการต่อต้านสินบน

     นิติบุคคลต้องมีการประเมินความเสี่ยงในการให้สินบนเจ้าพนักงานของรัฐ
     นิติบุคคลมีโอกาสที่จะเข้าไปเกี่ยวข้องกับเจ้าพนักงานของรัฐมากน้อยแตกต่างกันออกไป ด้วย โครงสร้าง ประเภท และลักษณะการดำเนินธุรกิจที่แตกต่างกันการประเมินความเสี่ยงในการให้สินบนเจ้าพนักงานของรัฐ จะทำให้สามารถสร้างมาตรการควบคุมได้เหมาะสมกับสภาพธุรกิจของตนเอง ซึ่งความเสี่ยงที่ว่านั้นหมายถึง ความเสี่ยงที่เกิดจากปัจจัยภายนอก เช่น ลักษณะธุรกิจที่มีโอกาสติดต่อกับเจ้าพนักงานของรัฐ และความเสี่ยงจากปัจจัยภายใน เช่น การขาดการอบรมเกี่ยวกับการต่อต้านการให้สินบน เป็นต้น

     มาตรการเกี่ยวกับกรณีมีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นการให้สินบนต้องมีรายละเอียดที่ชัดเจน
     การให้ของขวัญ เช่น เงิน สินค้า บริการ บัตรกำนัล หรือการเลี้ยงรับรอง เช่น ค่าที่พัก การศึกษา ดูงาน ค่าอาหารเครื่องดื่ม และการบริจาค มีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นการให้สินบนเจ้าพนักงานของรัฐนิติบุคคลจึงต้องมีขั้นตอนการพิจารณาในการขออนุมัติและตรวจสอบอย่างชัดเจน โดยต้องเป็นการกระทำที่ไม่มีเจตนาเป็นการใช้จ่ายเพื่อจูงใจเจ้าพนักงานของรัฐ ในส่วนมูลค่าควรสมเหตุสมผลและใช้เท่าที่จำเป็น และที่สำคัญช่วงเวลาที่เหมาะสม เช่น ไม่อยู่ในช่วงใกล้การเข้าร่วมแข่งขันประมูลโครงการของรัฐ เป็นต้น

     นิติบุคคลต้องนำมาตรการป้องกันการให้สินบนไปปรับใช้กับผู้ที่มีความเกี่ยวข้องทางธุรกิจกับนิติบุคคล
     บริษัทในเครือ หรือตัวแทนต่างๆ ถ้าเป็นผู้ที่มีความเกี่ยวข้องทางธุรกิจเหล่านี้ให้สินบนกับเจ้าพนักงานของรัฐเพื่อประโยชน์ของนิติบุคคล นิติบุคคลอาจมีความผิดด้วย จึงควรมีการตรวจสอบสถานะ รวมทั้งอาจกำหนดเป็นข้อตกลงในสัญญาให้ปฏิบัติตามกฎหมายและมาตรการเรื่องการต่อต้านสินบนด้วยเช่นกัน

     นิติบุคคลต้องมีระบบบัญชีที่ดี
     มีการบันทึกข้อมูลอย่างถูกต้อง โปร่งใส และมีการตรวจสอบที่เป็นอิสระเพื่อป้องกันการปกปิดค่าใช้จ่ายที่ใช้เป็นสินบน

     นิติบุคคลต้องมีแนวทางการบริหารทรัพยากรบุคคลที่สอดคล้องกับมาตรการป้องกันการให้สินบน
     การบริหารทรัพยากรบุคคลที่ดีเป็นส่วนสำคัญในการสร้างวัฒนธรรมต่อต้านการให้สินบนภายในองค์กรได้ นับตั้งแต่การจ้างงาน การเลื่อนตำแหน่ง การฝึกอบรม และการจ่ายค่าตอบแทนนิติบุคคลต้องมีการผลักดันบุคลากรภายในองค์กรให้มีความตระหนักและร่วมมือปฏิบัติตาม

     นิติบุคคลต้องมีมาตรการในการสนับสนุนให้มีการรายงานการกระทำความผิด หรือกรณีมีเหตุน่าสงสัย
     จัดให้มีช่องทางการรายงานและให้ความคุ้มครองผู้ร้องเรียน สร้างความเชื่อมั่นให้มีการร่วมมือกันอย่างเต็มที่ เช่น มีวิธีการรับเรื่องที่เข้าถึงง่าย ชัดเจน ปกปิดสถานะของผู้ร้องเรียนหากไม่ต้องการเปิดเผยตัวเอง ไปจนถึงสามารถติดตามผลการดำเนินการได้

     นิติบุคคลต้องตรวจสอบและประเมินผลการใช้มาตรการป้องกันการให้สินบนอย่างเป็นระยะ
     ความเสี่ยงในการให้สินบนเจ้าพนักงานของรัฐนั้นอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้เสมอ จึงต้องมีการทบทวนและประเมินผลมาตรการป้องกันการให้สินบนเป็นระยะเพื่อแก้ไขปรับปรุงมาตรการให้สอดคล้องกับความเสี่ยงที่เปลี่ยนแปลงไป

     แม้นิติบุคคลจะมีมาตรการสอดคล้องกับหลักการของคู่มือฉบับนี้แล้ว แต่ก็ไม่ได้เป็นเครื่องรับประกันว่าจะไม่ต้องรับผิดถ้ามีการให้สินบนเกิดขึ้น เพราะนิติบุคคลยังต้องนำมาตรการไปปรับใช้อย่างจริงจังให้เหมาะสมกับสภาพธุรกิจและความเสี่ยงของตน เพื่อให้มาตรการนั้นเป็นมาตรการควบคุมภายในที่เหมาะสมจริงๆ ด้วยเช่นกัน

     การสร้างมาตรการป้องกันการให้สินบนที่เข้มแข็งและมีประสิทธิภาพจะเป็นเกราะป้องกันที่ดีที่สุดให้กับองค์กรของท่าน โดยไม่เป็นเพียงแค่ป้องกันความเสียหายที่เกิดจากการถูกฟ้องร้องเป็นคดีความเท่านั้น แต่การดำเนินธุรกิจอย่างโปร่งใส ยังส่งผลไปยังทุกภาคส่วนอย่างปฏิเสธไม่ได้ เพราะจำนวนการทุจริตที่ลดลงจะช่วยสะท้อนภาพลักษณ์ที่ดีให้กับประเทศ และยังสามารถสร้างความน่าเชื่อถือต่อนักลงทุน ผู้ถือหุ้น ทำให้การดำเนินธุรกิจของท่านเป็นไปได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว